ฝ้า
ฝ้า (Melasma) หากเกิดขึ้นบนใบหน้าแล้ว สาว ๆ อาจเกิดความกลุ้มใจ ไม่มั่นใจกันเลยทีเดียว ฝ้านั้นที่เรียกได้ว่าเป็นมีลักษณธคล้ายคลึงกับรอยกระ เพราะสาเหตุการเกิดนั้นคล้ายคลึงกันมาก แต่ฝ้าเมื่อเกิดแล้วจะมีบริเวณที่กว้างกว่า สามารถมองเห็นได้ชัดกว่า และเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของใบหน้าไม่ใช่เฉพาะตรงโหนกแก้ม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีฝ้าบริเวณโหนกแก้มเนื่องจากโดนแสงแดดได้มาก โดยตัวเลขเฉลี่ยของคนที่เป็นฝ้าส่วนใหญ่จะเริ่มจากวัย 30 ปีขึ้นไป
สาเหตุการเกิดฝ้า
ฝ้า หรือ Melasma เกิดจากการที่ผิวหนังผลิตเม็ดสีผิวหรือเม็ดสีเมลานิน (Melanin pigment) ออกมาบริเวณนั้น ๆ มากเกินไป มีผลทำให้สีผิวบริเวณนั้นไม่สม่ำเสมอ เนื่องมาจากเม็ดสีเมลานินนั้นมีหน้าที่กรองรังสียูวีก่อนซึมเข้าสู่ผิวเราจริง ๆ เมื่อผิวได้รับแสงแดดมากขึ้น จะทำให้เม็ดสีเมลานินนั้นก็จะถูกผลิตออกมามากขึ้นตามไปด้วย “รังสี UVA” เป็นรังสีที่มีผลต่อการเกิดฝ้าโดยตรง ซึ่งรังสียูวีเอจะมีช่วงคลื่นที่ยาวกว่ารังสียูวีบี จึงสามารถทำลายผิวได้ลึกกว่าชั้นผิวภายนอก เมื่อตากแดดนาน ๆ แล้วผิวถึงคล้ำเสียได้ ฝ้าไม่ได้ถูกกระตุ้นจากปัจจัยแสงแดดเพียงอย่างเดียว
นอกจากแสงแดดแล้ว การใช้เครื่องสำอางบางชนิด การทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด รวมไปถึงฮอร์โมนและกรรมพันธุ์ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าได้เช่นกัน ถ้าสาเหตุการเกิดฝ้ามาจากกรรมพันธุ์ โอกาสฝ้าจะกลับมาเกิดซ้ำจะมีสูงมาก ฝ้าต่างจากกระอย่างไร รักษาเหมือนกันไหม หลาย ๆ คนอาจสงสัย โดยฝ้านั้นต่างจากกระ เพราะฮอร์โมน กระจะเกิดจากแสงแดด ความร้อน และอายุ แต่ในกรณีของฝ้านอกจากแสงแดดแล้วก็มักจะมีปัจจัยฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก เช่น มีการตั้งครรภ์อาจเกิดฝ้าได้ง่ายเพราะร่างกายเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ต้องกังวลเพราะฝ้าชนิดนี้จะหายไปหลังจากคลอดบุตร รวมไปถึงการที่ฮอร์โมนลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างช่วงการเข้าสู่วัยทอง และวัยหมดประจำเดือน ก็ทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน
ประเภทของฝ้า
- ฝ้าแบบตื้น เกิดได้ในระดับผิวหนังกำพร้าหรือผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ และใช้ระยะเวลาไม่นานในการรักษา สีของฝ้าชนิดนี้จะเป็นสีน้ำตาล ขอบชัด เกิดขึ้นได้ง่าย
- ฝ้าแบบลึก จะอยู่ในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า เป็นฝ้าที่รักษาได้ยาก การทายามักให้ผลเพียงแค่ทำให้ดูจางลงเท่านั้น ความลึกของฝ้าจะทำให้เกิดการแสดงสีออกมาเป็นสีน้ำตาลอมฟ้าหรือสีน้ำตาลอมม่วง
วิธีรักษาฝ้า
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
การป้องกันการเกิดฝ้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเนื่องจากเกิดแล้วใช้เวลาในการรักษานาน คุณควรเริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดฝ้า ถ้าหากหลีกเลี่ยงแสงแดดไม่ได้ก็ควรแต่งกายแบบไม่เผยผิวร่วมกับทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวจากรังสียูวี เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป และต้องเป็นแบบ PA+++ ด้วย จึงจะสามารถปกป้องผิวจากการเกิดฝ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าต้องทำงานโดยอยู่ภายใต้แสงแดดตลอดทั้งวัน ให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 หรือ สูงมากกว่านี้ แต่ให้ทาครีมก่อนออกแดดเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อครีมกันแดดยังมีประสิทธิภาพดีพอต่อการป้องกันแสงแดด นอกจากแสงแดดแล้วแสงอย่างอื่นก็เป็นปัจจัยของฝ้า เช่นไอร้อนจากเตา รังสีจากหน้าจอคอม ก็เป็นเหตุทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน ดังนั้นเลี่ยงได้ควรเลี่ยงเลย
นอกจากนี้ให้สังเกตตัวเองด้วยว่าเรารับประทานยาอะไรที่เสี่ยงต่อการเกิดฝ้าหรือเปล่า เช่น ยาคุมกำเนิด ยาปรับฮอร์โมน หรือใช้เครื่องสำอางอะไรแล้วแพ้จนเป็นรอยคล้ายฝ้าหรือไม่ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอล์จะเป็นตัวการทำให้เกิดฝ้าลึกเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงครีมทาผิวประเภทไวเทนนิ่งที่มีส่วนผสมของสารอันตรายอย่างเช่นสารไฮโดรควิโนน เป็นต้น
ดูแลตัวเองจากภายใน
การดูแลตัวเองจากภายในก็เป็นวิธีที่ดีทำให้ผิวใสได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการทายา ทำทรีตเมนต์ รวมไปถึงการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เราสามารถดูแลตัวเองจากภายในได้โดยการรับประทานทานอาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี สารที่กล่าวมานี้เป็นตัวช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น ช่วยเพิ่มการป้องกันไม่ให้ฝ้าขยายตัวใหญ่ขึ้นนั่นเอง
เลือกใช้ครีมบำรุง (ครีมรักษาฝ้า)
ครีมบำรุงต่าง ๆ ควรเลือกที่มีส่วนผสมของ AHA, วิตามินซี, อาร์บูติน (Arbutin), กรดโคจิก (Kojic) เป็นสารประกอบ จะช่วยลดรอยดำจากฝ้า การใช้ครีมทาฝ้า ครีมแก้ฝ้า หรือครีมรักษาฝ้าต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ฝ้าจางลงและทำให้หน้าดูกระจ่างใสขึ้นได้ การใช้ครีมรักษาฝ้านั้นจะใช้เวลาสักระยะกว่าฝ้าจะจางลงได้
การลอกฝ้าด้วยกรด TCA, กรด AHA ฯลฯ (Chemical peeling)
นับว่าเป็นอีกวิธีที่ปลอดภัยแม้ว่าจะได้ผลช้า วิธีนี้สามารถช่วยทำให้เซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้ากับเม็ดสีเมลานินหลุดออกมาได้ วิธีนี้เป็นการผลัดเซลล์ผิวเก่าและช่วยช่วยเผยให้เห็นเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่หลังการทำทรีตเมนต์นี้ ในช่วงแรกหน้าของคุณจะไวต่อแสงแดดมาก จึงต้องป้องกันปัจจัยเกิดฝ้าต่าง ๆ ให้ดีหลังการทำ แนะนำให้ทำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ยากินรักษาฝ้า (Tranexamic acid)
ยารักษาฝ้านั้นจะเป็นยากินที่มีคุณสมบัติทำให้เลือดแข็งตัว มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรอง คือ การนำมาใช้รักษาภาวะเลือดออกในผู้ป่วยเลือดไหลหยุดยาก การใช้ยานี้เพื่อรักษาฝ้านั้นก็เนื่องมาจากหลักการออกฤทธิ์ของยาที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ที่ใช้สร้างเม็ดสีเมลานินได้ จึงมีผลทำให้ฝ้าจางลง อย่างไรก็ตามข้อบ่งใช้ส่วนนี้ยังไม่ได้รับการรับรอง และยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกัน ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ก็มีหลายอย่าง เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ ผู้ใช้ควรใช้ตามคำแนนำของแพทย์เท่านั้น
รักษาด้วยไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
วิธีนี้สามารถใช้ได้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ยาทาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน มีคุณสมบัติช่วยให้การผลิตเม็ดสีถูกขัดขวางจนทำให้ผิวบริเวณที่เป็นฝ้าขาวขึ้นมาได้ แต่แม้ว่าไฮโดรควิโนนจะให้ผลในการรักษาที่ดี แต่มันก็มีข้อเสียและควรระวัง เนื่องจากไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทาง อย. ไทย ไม่อนุญาตให้ซื้อขายกันได้อย่างเสรี เว้นแต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถจ่ายครีมที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ได้
ไอออนโตรักษาฝ้า (Iontophoresis)
เครื่องมือชนิดนี้อาศัยหลักการให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าในระดับอ่อน ๆ ช่วยผลักยาหรือวิตามินที่เราทาไว้บนผิวให้ซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น ล้ำลึกยิ่งขึ้น ทำให้ยาออกฤทธิ์ในการรักษาได้ดี โดยยาที่นิยมนำมาใช้จะเป็นแบบเจล อย่างเจลอาร์บูติน, เจลโคจิก, เจลวิตามินซี, เจลลิโคไลซ์ และทรานซามิคเจล การรักษาแบบนี้อาจมีอาการระคายเคืองได้บ้าง มีผลข้างเคียงน้อย ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ฝ้าคุณต้องจางลงอย่างแน่นอน
ส่วนเครื่องโฟโน (Phonophoresis)
ก็สามารถนำมาใช้ร่วมกับเจลเพื่อช่วยผลักยาเข้าสู่ผิวได้เช่นเดียวกับเครื่องไอออนโต ทำแล้วให้ความรู้สึกสบายกว่าการทำไอออนโต แต่จะปล่อยกระแสไฟอ่อนกว่า ไออนโตจึงสามารถผลักยาสู่ผิวได้ลึกกว่า
เลเซอร์ Fraxel
เป็นการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวให้ไวยิ่งขึ้นโดยเลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนเพื่อเข้าไปกระตุ้นเซลล์ จึงทำให้ส่วนที่เป็นฝ้าถูกผลัดออกไปด้วย การทำ Fraxel แม้จะมีความปลอดภัยแต่ก็ทำให้ใบหน้าบวมแดงได้หลังจากทำเสร็จแล้ว และในช่วงแรกประมาณ 2-3 วันหลังการทำยังต้องระวังตัวเองจากแสงแดดให้มาก ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 2 เดือน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ