สิว
คนที่มีผิวมัน มักมีปัญหาสิวเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากผิวเกิดการอุดตันกลายเป็นสิวอุดตันชนิดหัวเปิดและชนิดหัวปิด (สิวหัวดำและสิวหัวขาว) โดยส่วนใหญ่พบได้ในบริเวณใบหน้าและลำคอ, ไหล่, หน้าอกและบริเวนแผ่นหลัง สำหรับสิวที่รุนแรงปานกลางจนไปถึงขั้นรุนแรงมากนั้น สิวจะเริ่มมีอาการบวมแดง อักเสบและกลายเป็นหัวหนองต่อไป หากบนใบหน้าใส ๆ มีสิวมารบกวนใจแล้วล่ะก็ อาจก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล ก่อความรำคาญ และยังนำไปสู่การเกิดรอยดำ รอยแดงสิวหลังการอักเสบ (post-inflammatory hyperpigmentation;PIH) หรือรอยแผลเป็นในระยะยาวได้อีกด้วย
การเกิดรอยดำ รอยแดงสิวหลังการอักเสบ (post-inflammatory hyperpigmentation;PIH) คือการที่ผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนสีไป เพราะเป็นผลมาจากการเกิดการอักเสบของผิวหนัง เช่น การเกิดสิว , โรคผิวหนังอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะคนที่มีสีผิวคล้ำจะเกิดรอยให้เห็นได้ง่าย โดย รอยดำ รอยแดงสิวหลังการอักเสบนี้ จะค่อยๆจางลงได้เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากสิวยุบ แต่การรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันก็มีวิธีรักษาสิวที่สามารถช่วยให้สิวหายได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสิวแต่ละประเภทนั้นก็มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน รวมถึงสภาพผิวหนังของแต่ละคนอีกด้วย
สาเหตุ 4 ประการของการเกิดปัญหาสิว
- Seborrhea
ลักษณะนี้คือการที่ผิวผลิตน้ำมันมากเกินไป โดยปกติแล้วต่อมไขมันจะผลิตน้ำมันเพื่อการหล่อลื่นผิวหนัง จะพบการผลิตมากเกินไปในกลุ่มคนที่มีผิวมัน นอกจากนี้มีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันได้ เช่น ฮอร์โมน สภาพอากาศ ยาบางชนิด พันธุกรรม เป็นต้น การผลิตน้ำมันของต่อมไขมันผลิตผิดปกติ อาจกระตุ้นให้เกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ได้ คือ ผิวหนังมีการอักเสบ ลอกเป็นขุย หรือแผ่น สีขาว/เหลือง บริเวณที่ผิวมัน เช่น ผิวบริเวณข้างในหู หรือ บริเวณหนังศีรษะเป็นต้น
- Hyperkeratosis
คือ กานเกิดการหนาตัวขึ้นผิดปกติของที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (Stratum corneum) เนื่องจากเกิดการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วอย่างผิดปกติ โดยเซลล์ที่ตายแล้วจะถูกผลัดออกไปไม่หมดทำให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมไขมัน และส่งผลรบกวนการไหลของน้ำมันออกมานอกผิวหนัง เมื่อต่อมไขมัน สร้างน้ำมันออกมาในปริมาณมากเกินไป ในขณะที่ผิวหนังชั้นนอกสุด(Stratum corneum) เกิดการหนาตัวขึ้นผิดปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันขึ้นในรูขุมขน ซึ่งจะทำให้เกิดสิวอุดตันหัวปิด (สิวหัวขาว) หรือ ถ้ามีการอุดตันใกล้กับปากรูขุมขน ก็จะเกิดสิวหัวเปิด (สิวหัวดำ) ขึ้นมา
- Microbial colonization
อีกสาเหตุสำคัญคือ แบคทีเรีย การที่แบคทีเรียที่เจริญเติบโตอยู่บริเวณใกล้รูขุมขน (propionibacteria) ทำให้เกิดสิวอุดตัน เกิดการอักเสบ มีอาการบวมแดง หรือเป็นหัวหนองขึ้นมา
- Inflammation
คือกระบวนการอักเสบของร่างกาย ทำให้เกิดสิวบวมและอักเสบขึ้น อาจมีสีแดงขึ้นร่วมด้วย ในกรณีที่เป็น Severe acne การอักเสบจะขยายและลึกลงไปในบริเวณใกล้เคียงกับการเกิดสิวมากขึ้น กรือเป็นลักษณะสิวในวงกว้างหรือเม็ดใหญ่นั่นเอง
สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดสิว
- Hormones
ในเด็กวัยรุ่นหรือใกล้จะเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฮอร์โมนในการเกิดสิวมากกว่าในวัยอื่น ๆ (แม้ว่าคนทุกเพศทุกวัยจะมีปัญหาสิว) การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนแอนโดรเจนในทั้งเด็กชายและเด็กหญิงในช่วงวัยรุ่น ทำให้ต่อมไขมันที่ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นกว่าความต้องการของผิว นอกจากนี้ ปริมาณฮอร์โมนในระบบไหลเวียนเลือด ยังเป็นอีกปัจจัยให้ต่อมไขมันที่ผิวหนัง เกิดสิวได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ส่วนใหญ่แล้วสิวจะหายได้เองหรือเกิดขึ้นน้อยลงหลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นไปแล้ว อย่างไรก็ตามการมีวิธีรักษาสิวที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลสิว เป็นหลุมลึก ฝังอยู่บนใบหน้านั่นเอง ต่อมไขมันมักไวต่อการกระตุ้นโดยฮอร์โมน ดังนั้นสิวในวัยผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงมักมีส่วนเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ (polycystic ovary syndrome) เป็นต้น นอกจากอีกนี้สาเหตุหลักในการเกิดสิวในวัยผู้ใหญ่ก็มาจากความเครียดได้ด้วย
- Bacteria
การที่ต่อมไขมันสร้างน้ำมันออกมามากเกินจะทำให้มีแนวโน้มเป็นสิวง่าย เพราะเกิดการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แบคทีเรีย (P.acne) เจริญเติบโตได้ดี แบคทีเรียจะเป็นปัจจัยกระตุ้นสิวให้เกิดการอักเสบ บวมแดง และเป็นหัวหนอง บางคนเชื่อว่าสิวเกิดจากการไม่รักษาความสะอาด ไม่ทำความสะอาดผิวหน้าให้ถูกต้อง หรือไม่ได้ใช้โฟมหรือครีมแพง ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ในทางตรงกันข้าม การทำความสะอาดผิวบ่อยครั้งเกินไป หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์รุนแรง จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผิวเกิดการระคายเคือง และเกิดสิวได้มากกว่า ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจวิธีรักษาสิว โดยถูกวิธี และควรรู้จักสภาพผิวของตัวเองก่อน จะช่วยลดการเกิดสิวได้
- Gene
กรรมพันธุ์ก็มีผลต่อการเกิดสิวด้วยเช่นกัน ถ้าพ่อแม่ในช่วงวัยรุ่นนั้นมีประวิติการเป็นสิว ลูกในวัยรุ่นก็มีโอกาสที่จะปัญหาด้วยเช่นกัน
ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดสิว
ปัจจัยบางอย่างไม่ใช่สาเหตุโดยตรงแต่สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิว หรือกระตุ้นให้สิวอักเสบขึ้นได้
- อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น น้ำตาลและแป้ง
- การบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวมากเกินไป (ยกเว้นชีส)
- การสูบบุหรี่
- เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขนได้
- ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีน้ำมันมาก สามารถก่อให้เกิดการอุดตัน
- วิธีรักษาสิว ที่ไม่ถูกวิธี หรือไม่เหมาะกับสภาพผิว
วิธีรักษาสิว
หากพบว่ามีสิวขึ้นเป็นจำนวนมาก ควรเริ่มจากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็นสิว เพราะจะได้รับคำแนะนำเรื่องวิธีรักษาสิวที่ถูกวิธีและเหมาะสมกับสภาพผิวของเรา จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการเกิดสิวอักเสบรุนแรง หรือลามไปทั่วหน้าได้
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับคนเป็นสิว:
- ควรใช้น้ำอุ่น (ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะจะทำให้สิวรุนแรงขึ้น) และผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่เหมาะสม หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนเป็นสิวโดยตรงก็ดี
- ที่สำคัญไม่ควรบีบสิว หรือแกะสิว เองควรปล่อยให้สิวยุบหรือหายเองตามธรรมชาติ จะได้ไม่เกิดรอยดำ
- เลือกใช้ครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน
- ล้างเครื่องสำอางอย่างสะอาดไม่ทิ้งคราบบนใบหน้า
- หาวิธีรักษาสิว ที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนัง และประเภทสิว
การรักษาด้วยยา
ก่อนเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยา ต้องพิจารณาถึงอาการของสิว และสาเหตุการเกิดสิวก่อนเป็นสำคัญ การรักษาสิวระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
การใช้ยาจะช่วยรักษาและลดอาการ หรือ ลดสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ดังนี้
- ลดปริมาณการสร้างน้ำมันส่วนเกิน
- เพิ่มการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เพื่อลดการเกิดการอุดตันในรูขุมขน
- ลดแบคทีเรีย สาเหตุหลักของการเกิดสิว
- ลดการอักเสบของสิว ซึ่งมีผลทำให้ลดการเกิดรอยสิว สิวบวมแดง สิวหัวหนอง
ยารักษาสิวที่มีประสิทธิภาพในการรักษา มีดังนี้:
- Topical retinoids เช่น Tretinoin และ Adapalene จะออกช่วยในการ ผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตัน หรือลดการอักเสบด้วย ใช้สำหรับรักษา สิวอุดตันและสิวอักเสบ
- Benzoyl Peroxide มีฤทธิ์ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- Topical Antibiotic มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ควรใช้ควบคู่กับยา Benzoyl Peroxide เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
- Azelaic acid เป็นยารักษาสิวอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ผลัดเซลล์ผิว และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักจ่ายยานี้เมื่อคนไข้เกิดอาการข้างเคียงจากยารักษาสิว Benzoyl Peroxide หรือ Topical retinoids
การรักษาสิว ไม่ว่าจะใช้ยารักษาสิวหรือไม่ใช้ยา การใช้เวลาในการรักษานั้นเป็นสิ่งสำคัญ ตามปกติแล้วการรักษาจะใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ หรืออาจยาวนานถึง 3 เดือน และระหว่างการรักษาในช่วงแรกและบางรายอาการของสิวอาจดูแย่ลงมากก่อนที่จะดีขึ้น อย่าพึ่งตกใจ คนไข้บางรายอาจท้อใจ และคิดจะยกเลิกการรักษา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องรู้ไว้คือ ต้องอดทนและรักษาต่อไปแม้ว่าอาการจะไม่ได้ดีขึ้นในทันทีก็ตาม